ประวัติความเป็นมา

ประวัติสถานศึกษา

     วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล ตั้งอยู่เลขที่ 4 หมู่ที่ 2 ตำบลควนกาหลง  อำเภอ ควนกาหลง จังหวัดสตูล จัดตั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520  มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,993 ไร่   เดิมเป็นที่ตั้งสถานีทดลองยางควนกาหลง กรมกสิกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถานีทดลองยางได้ยกเลิกไปและได้มอบที่ดินประมาณ 500 ไร่ และสิ่งก่อสร้างบางอย่างให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมารัฐบาลมีความประสงค์จะพัฒนาเยาวชนในชนบท สำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่าสถานีทดลองยางควนกาหลงที่กระทรวงเกษตรฯ มอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการนั้น ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่ประการใด ขอให้กระทรวงศึกษาธิการมอบที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนภาคใต้” กระทรวงศึกษาธิการจึงมอบให้ตามหนังสือ  ที่ ศธ 2002/14373 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2515 ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนภาคใต้ สังกัดสำนักงานส่งเสริมเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ขออนุญาตขยายพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาค้อม เขาแดง เขาใหญ่ อำเภอควนกาหลง อีก 1,093 ไร่ โดย นายสนิท  เมตตานันทน์ เป็นผู้รับอนุญาต จากสำนักงานป่าไม้จังหวัดสตูล ตามบันทึกข้อความ ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2519 ต่อมาสำนักเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีได้โอนมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควรขยายการอาชีวศึกษา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 4 จึงให้เปลี่ยนแปลง “ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนภาคใต้” ให้จัดตั้งเป็น “โรงเรียนเกษตรกรรมสตูล” สังกัดกองโรงเรียน (สมัยนั้น) กรมอาชีวศึกษา ตั้งแต่วันที่  22 กุมภาพันธ์ 2520 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่  14  มีนาคม  2520  และได้แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง รับโอนทรัพย์สินเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2520 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมสตูล และรับโอนทรัพย์สินเสร็จเรียบร้อยแล้วได้แต่งตั้งให้ นายชม  สงทิพย์  ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ และได้พิจารณายืมตัว นายชิต โยธารักษ์ และนายนิคม วิชัยดิษฐ์ จากวิทยาลัยเกษตรกรรมตรัง มาช่วยปฏิบัติราชการและเปิดรับสมัครนักเรียนในปีการศึกษา 2520 เป็นรุ่นแรก

                   ปี พ.ศ. 2524 กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาขยายอาชีวศึกษาเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้ยกฐานะ “โรงเรียนเกษตรกรรมสตูล” เป็น “วิทยาลัยเกษตรกรรมสตูล” สังกัดกองวิทยาลัยเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 28 กันยายน 2524 โดยมี นายชม สงทิพย์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา      

                   ปี พ.ศ. 2537 รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบาย ดำเนินโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในสถานศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศและได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนพระยาสมัตรัฐ-บุรินทร์ ในวิทยาลัยเกษตรกรรมสตูลโดยมีผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นบุคคลคนเดียวกัน ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ คือนายธรรมนูญ  บุญทอง มีการรับนักเรียนรุ่นแรก ระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ แต่จบหลักสูตรในชื่อ วิทยาลัยเกษตรกรรมสตูล

                   ปี พ.ศ. 2538 – 2539 มีการเปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ระดับ ปวช., ปวส. หลักสูตรวิทยาลัยชุมชน อย่างสมบูรณ์ 2 ระดับ คือ

                             - ระดับ ปวช. สาขางานช่างยนต์,  พณิชยการ ระดับ

                             -ปวส. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

และสิ้นสุดการเปิดสอนในหลักสูตร วิทยาลัยชุมชน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.3 จากโรงเรียนขยายโอกาสของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เข้าเรียนหลักสูตร ปวช. สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ โดยยกเว้นค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 3 ปีและให้เป็นนักเรียนประจำได้รับเงินอุดหนุนคนละ 5,000 บาทต่อปี

                   วันที่ 26 กันยายน 2539 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ วิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศเป็น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี  วิทยาลัยฯ จึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น-“วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล” ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการโดยมีชื่อย่อว่า “วษท.สตูล” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Satun College of Agriculture and Technology และมีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า S-CAT